PGP ไปซะแล้วครับท่าน Symantec ได้ไปซะแล้ว

ข่าว (ไม่) ล่าเท่าไหร่ แต่อยากอัปเดตให้ผู้อ่านได้รับทราบกันสักนิดคือ Symantec ซื้อ PGP ไปซะแล้วครับ

สำหรับท่านที่ไม่คุ้นเคยก็ต้องขอบอกซักนิดนะครับว่า PGP เป็นซอฟท์แวร์ด้าน Encryption ที่เอาไว้เข้ารหัสข้อมูลทั้งภายในเครื่องเอง หรือเมลที่ส่งออกไปครับ โดยในส่วนของเมลจะใช้หลักการ Asymmetric Key หรือ Public Key and Private Key ในการเข้ารหัสครับ ซึ่งก็ถือว่าตัว PGP เองทำหน้าที่ในส่วนนี้ได้อย่างยอดเยี่ยมทีเดียวครับ

ส่วน Symantec ก็อย่างที่รู้ๆกันครับว่าเป็นเจ้าพ่อด้่าน Security Solution มีทั้ง Antivirus, Antispam ซึ่งก็ขายดิบขายดีทั้งคู่ครับ จริงๆแล้วส่วนตัวผมเองก็ไม่ประหลาดใจเท่าใดนักกับการเข้าซื้อ PGP ของ Symantec เพราะช่วงหลังๆทาง Symantec เองก็เข้ามาเล่นในตลาด DLP (Data Leak Prevention) ซึ่งเป็นกลุ่มซอฟท์แวร์สำหรับการป้องกันข้อมูลรั่วไหลในองค์กรได้ซักพักแล้ว ในเมื่อ PGP ทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดี และ Symantec ก็มีศักยภาพพอที่จะเข้าไปซื้อได้ ก็เลยกลายเป็นตามเรื่องนี่แหละครับ

สำหรับความคาดหวังส่วนตัวหลังจากที่ Symantec ซื้อไปแล้วก็คืออยากให้ทำราคาให้ลดต่ำลงมาซักหน่อย เพราะเดิม PGP มีราคาค่อนข้างสูง องค์กรหลายๆแห่งจึงมักจะชะลอการตัดสินใจ (จริงๆคือไม่ซื้อ) เกี่ยวกับการซื้อ PGP ไว้ก่อนแม้จะอยากได้ขนาดไหนก็ตาม ซึ่งสำหรับ Symantec นั้นทำตลาดผ้ใช้ทั่วไปอยู่แล้ว ดังนั้นในอนาคตผมเชื่อว่าเราอาจจะเห็นฟังก์ชันจาก PGP เข้ามาอยู่ในชุดซอฟท์แวร์ใดซอฟท์แวร์หนึ่งของ Symantec ค่อนข้างแน่

หลังจากได้ PGP แล้วก็เรียกว่า Symantec ขยายตลาดได้แทบจะครอบคลุมแล้ว เท่าที่ผมดูคงขาดแต่ Firewall ในระดับ Enterprise เท่านั้นที่ Symantec ยังไม่มี (Symantec ปัจจุบันมีแต่ Personal Firewall) แต่ของอย่างอื่นมีเต็มไปหมดแล้ว แม้แต่ซอฟท์แวร์สำรองข้อมูลก็ยังปฎิเสธไม่ได้ว่า Symantec Backup Exec สุโค่ยที่สุด (ซื้อมาจาก Veritas อีกที ฮ่าๆ)

หากเป็นไปได้ช่วยๆซื้อ Checkpoint ไปซักทีก็ดีนะครับ เผื่อราคาจะถูกลงบ้างอะไรบ้าง :)

ขอบคุณพี่ชายที่แสนดีคนหนึ่งมากๆครับ

ผมเชื่อว่าคำขอบคุณนี้จะไปถึงพี่แน่ๆ (เขียนลงบล็อคเพราะอยากเซอร์ไพรส์น่ะครับ แหะๆ)

ถึงแม้ตอนนี้จะไม่ได้เจอกันในที่ทำงานแล้ว แต่เชื่อว่าสักวันหนึ่ง ผมและพี่จะได้กอดคอนั่งลุ้นว่าของที่คอนฟิกจะใช้ได้หรือไม่ได้อีกครั้ง เหมือนกับที่ผ่านมาแล้วกับไฟร์วอลล์มหาเทพที่เปลี่ยนพอร์ตหนีการคอนฟิกจากเราได้เอง (ตอนนี้ขำมาก แต่ตอนนั้นเครียดแบบสุโค่ยเลย)

มีเรื่องน่าเสียดายอีกอย่าง คือการพลาดวิชามารไร้สายจากพี่ แต่ไม่เป็นไรครับ จากนี้หากมีเวลา ผมจะลองศึกษาและลุยด้วยตัวเองดูก่อน (แต่รองบค่าเสาอยู่ เอิ๊กๆ เงินไปไหนหมดรู้ๆกันนะ)

ขอบคุณมากครับสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่ให้กับผม ผมมีความรู้ความสามารถ (ที่อาจจะไม่มากนักสำหรับคนอื่นๆหลายๆท่าน แต่ผมก็ดีใจครับที่ผมทำได้) อย่างทุกวันนี้ หนึ่งในคนที่มีส่วนอย่างมากก็คือพี่นี่แหละครับ (มาใหม่ๆ ผมจำได้ว่าถูกหน่วยมือปืนสมานฉันท์ยิงคำถามที่ผมตอบไม่ได้ร่วมๆร้อยเลยนา)

สุดท้ายนี้ก็ “ขอบคุณมากครับ”

Exchange Server 2010 ทำงานได้ดีบน Windows Server 2008 R2

ปัจจุบัน Windows Server 2008 จะอยู่ในท้องตลาด 2 เวอร์ชันคือ Windows Server 2008 R2 และ Windows Server 2008 SP2 ซึ่งตัว R2 จะเป็นตัวที่สร้างขึ้นมาทีหลัง เคอร์เนลล์จะเป็นรุ่นเดียวกับ Windows 7 ในขณะที่ Windows Server 2008 SP2 จะเป็นเคอร์เนลล์รุ่นเดียวกับ Vista ระบบปฏิบัติการทั้งสองนี้สามารถติดตั้ง Exchange Server 2010 ซึ่งเป็นโซลูชันด้านระบบเมลใหม่ล่าสุดของไมโครซอฟท์ได้ทั้งคู่

ในการออกแบบการติดตั้ง Exchange Server ตั้งแต่ 2007 จะถูกแบ่งออกเป็น Role หนึ่งใน Role ที่สำคัญคือ Client Access Server (CAS) ซึ่งมีหน้าที่ในการ Authenticate ผู้ใช้งาน เป็นที่ตั้งของ Outlook Web Access เป็นที่ตั้งของ Outlook Anywhere และอื่นๆอีกมากมาย

ในกรณีที่มีผู้ใช้จำนวนมาก CAS จะใช้ทรัพยากรค่อนข้างมากตามไปด้วย การออกแบบด้านฮาร์ดแวร์จึงอาจจะต้องออกแบบให้ดีเป็นพิเศษ เช่น ต้องมีการใช้ Load Balance เข้ามาช่วย หรือใช้เซิร์ฟเวอร์ประสิทธิภาพสูง

เมื่อเร็วๆนี้ผมพบบทความหนึ่งที่น่าสนใจมากจากเว็บ msexchangeteam.com โดยในบทความนี้ทางทีมงานได้ทดสอบการทำงานของ CAS โดยใช้ Xeon L5335 จำนวน 2 ตัว ได้กราฟออกมาดังรูป

CAS CPU

CAS CPU

CAS CPU 2

CAS CPU 2

จากกราฟจะเห็นได้เลยว่าเทรนด์ของ R2 เมื่อผู้ใช้มากขึ้นดูจะเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่ไม่มากเท่าใดนัก ในขณะที่ SP2 เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด

อีกกราฟที่ผมเห็นว่าน่าสนใจคือการเปรียบเทียบวิธีการ Authenticate ระหว่าง Basic กับ NTLM ได้ผลออกมาดังรูป

ฺBasic vs NTLM

ฺBasic vs NTLM

จะเห็นว่าการ Authenticate แบบ NTLM ไม่ได้กินทัรพยากรมากกว่าแบบ Basic มากเท่าใดเลย ซึ่งจุดนี้ผมยอมรับเลยว่าก่อนหน้าคิดว่า NTLM น่าจะใช้ทรัพยากรสูงกว่าที่เห็นในกราฟนี้แน่ๆ

.

.

จากบทความนี้เอง ผมจึงเห็นว่าหากองค์กรใดยังใช้งาน Windows Server 2003 อยู่ และมีแผนจะอัปเกรดไปยัง Windows Server 2008 ตัวเลือกที่น่าจะเหมาะสมคงจะต้องยกให้ R2 หากคิดจะนำมาทำ Exchange Server 2010 เพราะใน Exchange 2010 การ HA ที่เรียกว่า Database High Availability Group (DAG) จะต้องติดตั้ง Exchange 2010 ลงใน OS ที่เป็นเวอร์ชันเดียวกันทุกเครื่อง จะปนกันระหว่าง R2 กับ SP2 ไม่ได้เลย

ราชาธิราช หนังสืออิงประวัติศาสตร์ดีๆอีกเล่มที่อ่านสนุก

หลังจากหยุดยาวที่ผ่านมามีโอกาสได้เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านเกิด ผมก็ได้พกหนังสือติดไปเล่มหนึ่งคือ ราชาธิราช ฉบับของสำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร ซึ่งได้ซื้อมาเมื่องานสัปดาห์หนังสือที่ผ่านมานี้เอง

ภาพปกนะครับ เครดิต thaigoodview.com

ราชาธิราช

ราชาธิราช

เนื้อเรื่องหลักของหนังสือเป็นสมัยที่มอญกับพม่าทำสงครามกัน มีการนำกลศึกต่างๆมาใช้กับฝั่งตรงข้ามหลายรูปแบบ มีเรื่องของขุนศึกหลายๆท่านที่มีความซื่อสัตย์กล้าหาญชาญชัยสมเป็นชายชาตินักรบ ขณะเดียวกันก็มีขุนศึกที่ขลาดรวมอยู่ด้วยเช่นกัน เรียกว่าเนื้อหานั้นทำให้เราได้เห็นชีวิตและตัวอย่างทั้งของคนดีและคนไม่ดีกันพอสมควรครับ และมีการสอดแทรกเนื้อหาในส่วนของพุทธธรรมเข้าไปพอสมควร

กล่าวโดยกลยุทธนั้นแม้ว่าจะไม่ถึงขนาดแพรวพราวเหมือนสามก๊ก แต่สำหรับผมแล้วก็ถือว่าอ่านได้เพลินๆครับ และหลายๆสิ่งในหนังสือเล่มนี้ก็ให้แง่คิดกับการดำเนินชีวิตพอสมควร โดยเฉพาะในเรื่องที่ว่า คนดีและมีความซื่อสัตย์นั้น ไม่ว่าจะตกไปอยู่ที่ใด ก็มักจะได้รับสิ่งดีๆตอบแทนเสมอ ในขณะที่คนไม่ดีแม้ว่าจะได้เปรียบอย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไปอยู่ดีครับ

ราชาธิราช ก็ถือเป็นหนังสืออีกเล่มครับที่อยากแนะนำให้อ่านในเวลาว่างครับ

หากผู้อ่านท่านใดมีหนังสือดีๆก็มาแนะนำกันบ้างนะครับ :)

ชวนอ่านหนังสือวันหยุด “ห้องสิน สถาปนาเทวดาจีน”

ใกล้วันหยุดยาวกันแล้วนะครับ หลายๆท่านคงจะมีแผนจะเดินทางไกล และสำหรับท่านที่ชื่นชอบการอ่านหนังสือหากกำลังเลือกหนังสือที่จะติดรถติดตัวไปอ่านระหว่างการเดินทาง ผมก็ขอแนะนำสักเรื่องนะครับคือ “ห้องสิน สถาปนาเทวดาจีน”

ภาพปกขอนำมาจากสำนักพิมพ์สร้างสรรค์บุ๊คส์ ผู้จัดทำหนังสือแนวอิงพงสาวดารจีนหลายๆเรื่องครับ

ห้องสิน

ห้องสิน

หนังสือเป็นแนวตำนานอิงพงศาวดารจีนสมัยแรกๆคือปลายราชวงศ์ซาง ต้นราชวงค์จิวนะครับ บุคคลในหนังสือหลายๆท่านมีตัวตนจริงๆ หลายๆท่านก็เป็นเทพที่ลูกหลานชาวจีนนับถือกัน ไม่ว่าจะเป็น เกียงไท่กง เล่าจื๊อ โลเฉีย (นาจา) เจ้าแม่กวนอิม พระทีปังกรพุทธเจ้า และท่านอื่นๆอีกมากมาย

หนังสือเรื่องนี้หลังจากที่อ่านแล้วคงต้องบอกว่าเป็นอีกเล่มที่อ่านสนุกครับ สำนวนจะออกแนวไทยโบราณเพราะแปลกันมานานแล้ว แต่ก็ยังได้อรรถรสอยู่ในปัจจุบันครับ โดยรวมแล้วคงต้องบอกว่าเป็นหนังสือที่เหมาะกับวันหยุดอีกเล่มเลยครับ

WordPress Themes